โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ภัยเงียบที่ชาวไทยยังมองข้าม ตอนที่ 2

31/10/2022

ในตอนที่แล้วเราได้เล่ากันถึงความน่ากลัวและความน่าสนใจของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุกันไปแล้ว ในครั้งนี้เราจะมาเล่ากันต่อถึงอาการแสดงที่ค่อนข้างเฉพาะของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ และคำแนะนำว่าในฐานะญาติหรือคนที่รักของผู้สูงอายุ เรามีแนวทางช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง

ในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ต้องอาศัยการสังเกตและใส่ใจจากญาติและผู้อยู่ใกล้ชิดมากเป็นพิเศษ เพราะหลายครั้งอาการที่แสดงออกมา คล้ายคลึงกับอาการของความเปลี่ยนแปลงร่างกายและความเสื่อมทั่วไป เช่นหมดเรี่ยวแรง หรืออาจมีปัจจัยที่มีความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ เช่นการสูญเสียหรือการเจ็บป่วย ทำให้หากไม่เข้าใจหรือใส่ใจความเปลี่ยนแปลงเพียงพอ อาจจะทำให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้าพลาดโอกาสในการรักษาให้ดีขึ้นได้

ผู้สูงอายุที่เป็นซึมเศร้า มีอาการอย่างไรได้บ้าง?

หมอมีข้อสังเกต 3 ข้อในการช่วยสังเกตอาการซึมเศร้าของผู้สูงอายุ

  1. ซึมแต่ไม่เศร้า ในผู้สูงอายุ เมื่อถามคำถามที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ เช่น ความรู้สึกเศร้า ไร้ค่า มักจะได้คำตอบว่า ‘ไม่รู้’ หรือ ‘ไม่แน่ใจ’ แต่จะให้คำตอบได้ชัดกับอาการเบื่อหน่ายและอาการทางกายมากกว่า ญาติควรพยายามสังเกตการแสดงออกทางอารมณ์โดยอ้อม เช่นการบ่นว่า ‘เบื่อมาก’ ‘ไม่อยากทำอะไรเลย’ หรือ ‘ไม่เห็นมีใครสนใจ’ ซึ่งมักจะออกมาในแนวการบ่นมากกว่าการสำรวจความรู้สึก แต่ก็ยังแสดงออกถึงภาวะทางอารมณ์ที่รู้สึกไร้คุณค่าและไม่มีความสุข
  2. ปวดมากกว่าที่เป็น  มีผู้สูงอายุเพียงไม่ถึง 1 ใน 3 ที่เป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่มีโรคทางกายอย่างอื่นเลย โดยมากจึงแยกกันได้ยากว่าอาการที่ผู้ป่วยเป็น เป็นผลมาจากภาวะซึมเศร้าหรือไม่ แต่ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้ามักสังเกตได้ว่ามักจะมีอาการมาคู่กับการปวดเรื้อรัง และแสดงออกถึงอาการปวดหรือทุกข์ทรมานมากเป็นพิเศษ กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเราควรมองข้ามการรักษาอาการทางกายหรือการปวดของผู้สูงอายุ แต่ให้สังเกตอาการซึมเศร้าและดูแลทางกายไปพร้อมๆกันจะช่วยลดอาการของผู้ป่วยได้มากขึ้น
  3. เปลี่ยนไปทีละนิด สุดท้ายนี้ หมอถือคติที่ว่า ไม่มีใครรู้จักตัวผู้สูงอายุไปได้ดีกว่าคนที่เค้ารัก เพราะฉะนั้นคนที่น่าเชื่อถือที่สุดคือญาติหรือผู้ดูแลนั่นเอง แม้ว่าหลายครั้งอาการของผู้สูงอายุอาจยังไม่เข้ากับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า แต่หากมีอาการที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอันไม่สามารถอธิบายได้จากสาเหตุอื่น เช่น เคยเล่นมุกตลกเป็นประจำแล้วไม่ค่อยพูด เคยชอบฟังเพลงแล้วเลิกฟังไป เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่มีโอกาสเกิดจากโรคซึมเศร้าทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นถ้าสงสัยว่ามีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ควรเฝ้าระวังไว้ก่อนว่าอาจจะเกิดเป็นโรคซึมเศร้าได้

แนวทางการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นซึมเศร้า

ในฐานะผู้ที่ใช้เวลาอยู่กับผู้ป่วยมากที่สุด หมอขอฝากแนวทางในการร่วมดูแลผู้สูงอายุไว้ 3 ข้อเพื่อให้ไปปรับใช้กันในบ้านที่อาจจะมีผู้สูงอายุอยู่

  1. เฝ้าระวังและวินิจฉัยแต่เนิ่น จากบทความนี้ จะเห็นแล้วว่าการวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หากญาติมีส่วนร่วมในการสังเกตและให้ความคิดเห็น ยิ่งผู้สูงอายุได้รับการวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาโดยเร็วยิ่งเป็นสิ่งดี
  2. ลดการตีตราและสนับสนุนการรักษา เนื่องด้วยผู้สูงอายุหลายท่านในประเทศไทยยังคงมีทัศนคติเชิงลบกับคำว่าโรคซึมเศร้า การที่มีญาติหรือคนที่รักคอยสนับสนุนและช่วยเหลือให้ได้รับการรักษาจะช่วยให้การรักษากับแพทย์ได้ผลมากขึ้น
  3. ค่อยเป็นค่อยไป เนื่องด้วยผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาได้มาก การให้การรักษาของแพทย์จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจจะเห็นผลช้ากว่าผู้ป่วยทั่วไป ในบางคนอาจจะต้องรักษาด้วยยานานกว่า 2 ปี ความต่อเนื่องและการช่วยให้ความสำคัญจากญาติจึงเป็นเรื่องสำคัญ

กำลังใจจากพรการุณ

ก่อนจบบทความนี้ นอกจากความรู้และเกล็ดเล็กน้อยที่แลกเปลี่ยนกันไปแล้ว หมออยากเป็นกำลังใจให้กับญาติผู้สูงอายุทุกท่านที่ได้อ่านกันมาถึงตรงนี้ เพราะผู้ดูแลทุกท่านที่ต้องดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ย่อมมี ‘ความหนัก’ ที่ต้องแบกรับไว้กันทุกรายอยู่แล้ว แต่ถ้าผู้สูงอายุมีภาวะซึมเศร้า ผู้ดูแลย่อมต้องแบกรับความเครียดทั้งกายและใจมากเป็นพิเศษ ญาติหรือผู้ดูแลต้องอย่าลืมดูแลตนเองควบคู่ไปด้วย หากรู้สึกว่าหนักเกินไป หรือมีความรู้สึกว่า ‘ไม่ไหว’ ให้ลองหาผู้ช่วยเหลือหรือปรึกษาแพทย์เพื่อร่วมกันหาทางออก อย่างไรทางพรการุณขอเป็นกำลังใจให้ทั้งญาติและผู้สูงอายุด้วยนะครับ

ที่มา https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3184156/

ที่มา : https://www.thaihealth.or.th