โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ภัยเงียบที่ชาวไทยยังมองข้าม ตอนที่ 1

30/9/2022

เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ ณ ปัจจุบัน สังคมไทยเริ่มมีการเปิดการพูดถึงโรคซึมเศร้ากันอย่างกว้างขวาง มีความยอมรับและความเข้าใจ ทั้งจากตัวผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม มากขึ้น แต่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ถือว่ายังมีอุปสรรคอย่างมากในการดูแล เพราะนอกจากในระดับวิทยาศาสตร์การแพทย์ โรคซึมเศร้าจะถูกวินิจฉัยและรักษายากกว่าในผู้ป่วยกลุ่มอื่นแล้ว การที่ผู้สูงอายุเคยเติบโตมาในสังคมที่ยังตีตราและกล่าวโทษผู้ที่แสดงความอ่อนแอทางอารมณ์ หรือที่เรียกว่ามี Stigma ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การดูแลผู้สูงอายุที่เป็นซึมเศร้ายากยิ่งขึ้นไปอีก วันนี้หมอจึงอยากจะมาเล่าความรู้ดีๆเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุให้เรามีความรู้มากขึ้นไปพร้อมๆกัน

เนื่องจากโรคซึมเศร้า โดยทั่วไปเป็นโรคที่มีอาการที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และภาวะจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยทั่วไปผู้ป่วยอาจจะมีอารมณ์เศร้า ซึม เบื่อหน่าย นอนไม่หลับ ไม่มีแรงจะทำอะไร เบื่ออาหาร รู้สึกไร้ค่า ไม่มีสมาธิ ถ้ารุนแรงอาจจะมีความอยากคิดฆ่าตัวตาย การแสดงออก ในคนหนุ่มสาวจะเห็นอาการหงุดหงิด โมโห หรือยอมรับว่าตัวเองมีภาวะไม่ดี รู้สึกแย่และต้องการการรักษามากกว่าผู้สูงอายุ

ทำไมโรคซึมเศร้าจึงวินิจฉัยยากในผู้สูงอายุ?

ในผู้สูงอายุ นอกจากมีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่สังเกตหรือยอมรับในภาวะทางจิตใจที่เปลี่ยงแปลงไปแล้ว ตัวโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุเองก็มีปัจจัยเกิดโรคที่ต่างออกไป จึงอาจมีอาการแสดงออกทางกาย เช่นปวดหลังปวดตามเนื้อตัว หายใจไม่อิ่ม ขี้บ่นหรือหงุดหงิดง่ายขึ้น เหม่อลอยหรือนั่งน้ำตาไหล เหล่านี้บางครั้งยังไม่สัมพันธ์กับโรคประจำตัวหรืออาการทางกายที่พบได้บ่อยอยู่แล้วในผู้สูงอายุ การสังเกตให้ได้ว่าผู้สูงอายุมีภาวะซึมเศร้าจึงต้องอาศัยทั้งความใส่ใจ การดูแล การใช้เวลาร่วมกันของคนในครอบครัวมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ

ปัจจัยเสี่ยงของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

ส่วนมากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุไม่ต่างจากในวัยอื่นๆ ได้แก่ เพศหญิง โสด มีโรคเรื้อรัง มีประวัติการติดสุรา ความโดดเดี่ยวไร้ที่พึ่ง หรือมีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคซึมเศร้า แต่ในผู้สูงอายุมีปัจจัยที่น่าจับตามองและเพิ่มความเสี่ยงอย่างเฉพาะเจาะจงอยู่ 3 ชนิดที่จะมาเล่าให้ฟัง

  1. การสูญเสีย ด้วยอายุที่มากขึ้นๆ การสูญเสียคนที่รักย่อมเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุมากกว่าในกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะหากผู้สูงอายุต้องสูญเสียคู่สามีภรรยา หรือคู่ชีวิตที่ใช้ชีวิตร่วมกันมานาน ระยะ 1 ปีแรกเรามักพบว่าผู้สูงอายุมีภาวะตอบสนองที่อาจจะเป็นการเจ็บป่วยทางกาย การต้องการหาหมอ หรืออาจจะมีภาวะกังวลมาก โดยในการศึกษาพบว่าที่ 3 เดือนหลังการสูญเสีย ผู้สูงอายุ 1 ใน 4 คนมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชาย จะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงในกลุ่มนี้ นอกจากนี้ หากการสูญเสียนั้นเกิดกับคนที่เป็นรุ่นเด็กกว่า เช่น สูญเสียลูก ความรุนแรงและความเสี่ยงมักจะมากขึ้นเป็นทวีคูณ 
  2. ภาวะรับผิดชอบดูแลผู้ป่วย ด้วยเหตุผลเดียวกัน คู่ชีวิตของผู้สูงอายุมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเจ็บป่วย เมื่อเทียบกับคู่ที่อายุน้อย การต้องดูแลคู่ชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยสมองเสื่อม เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก
  3. การเจ็บป่วย เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าโรคเรื้อรังมีผลต่อการเป็นโรคซึมเศร้า แต่ในผู้สูงอายุ การเจ็บป่วยใดๆที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตมีโอกาสส่งผลกระทบต่อภาวะจิตใจของผู้ป่วยเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นโรคที่ทำเคลื่อนไหวลำบากอย่างโรคข้อและกระดูกเสื่อม โรคที่ส่งผลต่อการสื่อสารอย่างภาวะหูตึง ตาฝ้าฝาง หรือโรคที่ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง อย่างภาวะปัสสาวะเล็ด โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน โรคเหล่านี้นอกจากจะส่งผลให้เป็นซึมเศร้าได้มากขึ้นแล้ว การที่ผู้ป่วยเป็นซึมเศร้ายังส่งผลลบกับการดูแลโรคประจำตัวเหล่านี้ ทำให้ควบคุมดูแลสุขภาพได้แย่ลงด้วย เช่น การไม่ทานยาตามที่แพทย์สั่ง การไม่อยากไปออกกำลังกาย การไม่ใส่ใจในอาหารที่ทาน หรือการดื่มสุราหรือสูบบุหรี่

อ่านกันมาถึงตรงนี้ คงได้เห็นถึงความน่ากลัวและความน่าสนใจในโรคซึมเศร้าของผู้สูงอายุกันแล้ว ในตอนหน้า หมอจะมาเล่าถึงอาการที่ควรสังเกตว่าอากงอาม่าที่บ้านจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ รวมถึงสิ่งที่ควรทำหากมีญาติผู้ใหญ่ที่เรารักเป็นโรคซึมเศร้ากันนะครับ

ที่มา : https://www.thaihealth.or.th