แคลเซี่ยม เสริมดีไม่เสริมดี???

30/11/2022

หลายครั้ง ผู้สูงอายุเองหรือญาติที่อยากดูแลสุขภาพให้ผู้สูงอายุ ก็อยากเสริมสุขภาพของตนเองหรือคนที่เรารักให้แข็งแรงมากที่สุด คำถามที่หมอมักจะได้รับบ่อยๆอย่างหนึ่งก็คือการรับประทานยาที่เป็นอาหารเสริม ซึ่งหนึ่งในยาที่เป็นที่นิยมมากที่สุดก็หนีไม่พ้นยาแคลเซี่ยมเสริม ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าแคลเซี่ยมเป็นแร่ธาตุประกอบที่สำคัญที่สุดของกระดูก จึงไม่น่าแปลกใจที่คนทั่วไปจะเข้าใจว่าหากอยากให้ผู้สูงอายุมีกระดูกที่แข็งแรงต้องทานแคลเซี่ยม วันนี้ พรการุญจะพาไปสำรวจดูว่า ในปัจจุบัน การให้แคลเซี่ยมเสริมในผู้สูงอายุ ช่วยเสริมสร้างกระดูกจริงหรือไม่ และจะมีความเสี่ยงหรือข้อเสียอะไรได้บ้าง

แคลเซี่ยม กระดูก และร่างกายมนุษย์?

ถ้าพูดถึงแร่ธาตุ แคลเซี่ยมเป็นหนึ่งในแร่ธาตุที่พบมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ พบมากในกระดูกและฟัน โดยเชื่อว่าถ้าคนนำ้หนัก 50 กิโลกรัม จะมีแร่ธาตุแคลเซี่ยมถึง 1 กิโลกรรมเลยทีเดียว โดยในกระดูกของคนที่แข็งแรง จะมีแคลเซี่ยมเป็นส่วนประกอบหลัก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ยิ่งกินแคลเซี่ยมเข้าไปมาก กระดูกจะยิ่งหนาแน่น เพราะคนเราจะสะสมความหนาแน่นของมวลกระดูกได้ถึงอายุ 30-40 ปี หลังจากนั้น ด้วยอายุที่มากขึ้น ร่วมกับปัจจัยต่างๆ เช่น การหมดฮอร์โมน ขาดการออกกำลังกาย น้ำหนักมาก กระดูกจะค่อยๆบางลงตามกลไกธรรมชาติ ดังนั้น แคลเซี่ยมจึงไม่ใช่ปัจจัยหลักของภาวะกระดูกบางในผู้สูงอายุอย่างที่เข้าใจกัน

สารอาหารแคลเซี่ยมได้มาจากที่ใด?

สารอาหารแคลเซี่ยมที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน อยู่ที่ประมาณ 800-1,200 มิลลิกรัม โดยยิ่งอายุมาก หรือตั้งครรภ์ ร่างกายยิ่งต้องการสารแคลเซี่ยมมากขั้น ช่องทางหลักที่คนเราจะรับแคลเซี่ยมเข้ามา ก็คือการรับประทานอาหาร โดยอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง นอกจาก นมวัว ที่เป็นที่รู้กันประจำแล้ว ยังมีอาหารอาทิเช่น กุ้งแห้ง, กะปิ, ปลาเล็กปลาน้อย, ปลาสลิด, หอยนางรม, ผักใบเขียวที่มีลักษณะแข็ง (คะน้า, ใบยอ, ใบชะพลู), งาดำ เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปหากมีการทานอาหารที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มผักและนม คนเรามักจะได้รับสารแคลเซี่ยมที่พอเพียงอยู่แล้ว

ในแง่อาหารเม็ดเสริมแคลเซี่ยมที่มีขายในท้องตลาดนั้น มีอยู่ 3 ชนิดใหญ่ ประกอบด้วย Calcium Carbonate, Calcium Citrate และ Calcium L Theonate ซึ่งที่หาง่ายและราคาถูกที่สุดคือ Calcium Carbonate โดยตัวแคลเซี่ยมชนิดนี้จะดูดซึมเข้าร่างกายได้เพียง 10-15% ซึ่งการดูดซึมยังขึ้นกับสารอาหารต่างๆ เช่น vitamin D ด้วย

ด้านมืดของแคลเซี่ยม

ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับการดูดซึมข้างต้น ทำให้การทานแคลเซี่ยมเสริม มีผลต่อระบบกระเพาะกับลำไส้มากที่สุด โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีอาการท้องผูกอยู่แล้ว อาการจะยิ่งรุนแรงขึ้น หรือบางรายอาจมีอาการอืดแน่นท้องได้ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ทานแคลเซี่ยมเสริมตอนท้องว่าง (แคลเซี่ยมที่ทานจะแทบดูดซึมไม่ได้เลยหากกระเพาะไม่มีอาหารอยู่) หรือทานโดยไม่มี vitamin D เข้าไปช่วยดูดซึม นอกจากนี้ ในการศึกษาที่ผ่านมา ยังพบว่าผู้ที่ทานแคลเซี่ยมเป็นประจำ เพิ่มความเสี่ยงโรคอันตราย 2 โรค ได้แก่ โรคนิ่วในไต และโรคหลอดเลือดตีบตัน ซึ่งถือว่าหากเกิดโรคเหล่านี้ ประกอบกับประโยชน์จากการกินอาหารเสริมแคลเซี่ยมในคนที่ทานอาหารได้หลากหลายอยู่แล้ว ไม่ได้ชัดเจน จึงทำให้แพทย์ในสมัยปัจจุบัน มักไม่แนะนำให้คนทั่วไปที่ไม่ได้มีภาวะขาดแคลเซี่ยมหรือกระดูกพรุนทานแคลเซียมเสริม

สรุป

แคลเซี่ยมเป็นสารประกอบสำคัญในกระดูกมนุษย์ แต่ภาวะกระดูกบาง ไม่ได้มีสาเหตุสำคัญมาจากการขาดแคลเซี่ยมเป็นหลัก คนที่ทานอาหารได้ทั่วไป เช่น นม หรือ ผักใบเขียว มักได้แคลเซี่ยมเพียงพอ ไม่มีภาวะขาดแคลเซี่ยม การกินอาหารเสริมแคลเซี่ยม มักดูดซึมได้ไม่ดี อาจก่อปัญหาท้องผูก แน่นท้อง หรือเกิดโรคนิ่วในไตและหลอดเลือดตีบได้ ดังนั้นจึงไม่แนะนำการซื้อแคลเซี่ยมเสริมกินเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์

ที่มา : https://www.thaihealth.or.th